เขี้ยวงู ๓

Jasminum syringifolium Wall. ex G. Don

ไม้เถาเนื้อแข็ง ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุกแกมช่อเชิงหลั่น ดอกสีขาว แฉกกลีบเลี้ยงสั้นกว่าหลอดกลีบเกลี้ยง ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด มี ๑ เมล็ด

เขี้ยวงูชนิดนี้เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ยอดอ่อนมีขน

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปใบหอก กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๔-๑๑ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนมน ขอบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงทั้งด้านบนและด้านล่าง ยกเว้นเส้นกลางใบมีขน เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๔ เส้น ด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างนูน เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ไม่มีตุ่มใบ ก้านใบยาว ๐.๓-๑ ซม. มีขน

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแกมช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่ง กว้าง ๑-๑๐ ซม. แต่ละช่อมีดอก ๕ ดอกถึงจำนวนมาก สีขาว ก้านดอกยาว ๑-๖ มม. ใบประดับรูปแถบ ยาว ๑-๗ มม. กลีบเลี้ยงมีขน โคนติดกันเป็นรูประฆัง ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแยกเป็น ๕-๖ แฉก แฉกรูปสามเหลี่ยมแคบแกมรูปลิ่ม ยาวประมาณ ๑ มม. กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดยาว ๑.๑-๑.๓ ซม. ปลายแยกเป็น ๗-๘ แฉก แฉกกว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ในดอกตูมกลีบดอกจะซ้อนเหลื่อมกัน เกสรเพศผู้ ๒ อัน ติดอยู่ภายในหลอดดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูรูปขอบขนานแคบแกมรูปรี แตกตามยาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ดถึงหลายเม็ด ยอดเกสรเพศเมียเป็นแถบยาว ๒ แถบ

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ออกเป็นคู่หรือเดี่ยว รูปรี กว้างประมาณ ๘ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. เมื่ออ่อนสีเขียว แก่จัดสีดำ มี ๑ เมล็ด

 เขี้ยวงูชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบในระดับต่ำ ในต่างประเทศพบที่อินเดียและพม่า.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เขี้ยวงู ๓
ชื่อวิทยาศาสตร์
Jasminum syringifolium Wall. ex G. Don
ชื่อสกุล
Jasminum
คำระบุชนิด
syringifolium
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Don, George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Don, George (1798-1856)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์